พิธีแต่งงานชาวบาบ๋า จากภาพบรรยากาศงานแต่ง

พิธีแต่งงานชาวบาบ๋า

งานแต่งบาบ๋าของชาวปุ้นเต่ (ชาวจีนในภูเก็ต) ถึงแม้จะผ่านมาหลายร้อยปี และบางขั้นตอนอาจถูกลดทอนไปบ้างเพื่อความสะดวก แต่ทุกครอบครัวก็พยายามรักษาต่อยอดประเพณีมงคลให้เพ้ะ (เหนียวแน่น ) เพราะเชื่อว่าทำดีเป่งอ้าน (โชคลาภ) มีแต่จะส่งผลดีต่ออนาคตของบ่าวสาวและคนในครอบครัว

ในปัจจุบันก็รวบมาเหลือประมาณ 2-3 วัน คือวันหนมสด (ขนมสด) วันแต่ง ผั่งเต๋ (พิธียกนำ้ชา) และวันจัดเลี้ยงโต้ะจีน ซึ่ง 2 กิจกรรมหลังก็นิยมทำภายในวันเดียวคือแต่งเช้า เลี้ยงเที่ยงหรือเย็นไปเลย

วันหนมสดคือญาติสนิทและเพื่อนๆ จะมาที่บ้านงานฝ่ายเจ้าสาว ช่วยกันจัดบ้าน ทำกับข้าว ขนม เตรียมความพร้อมรับเจ้าบ่าวในวันแต่งถัดมา

สมัยก่อนแต่งกัน 7 วัน 7 คืน เพราะถือว่าเป็นงานมหารวย ฉลองการควบรวม 2 ครอบครัวให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน หลายๆ บ้านถือว่าเป็นการต้าวถาว (แมทชิ่ง คลุมถุงชน) เพื่อความเจริญทางธุรกิจ เช่น บ้านทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะนิยมแต่งกับบ้านขายเครื่องมือก่อสร้าง เป็นต้น

พิธีแต่งงานจะเริ่มจากการจุดลูกทัด (ประทัด) ให้ทั้งเทดา (เทวดา) คนร่วมงานและคนละแวกบ้านงานได้รู้ถึงการเริ่มต้นพิธีงานแต่ง ไหว้เทดาก่อนเพื่อน (เป็นอย่างแรก) บ้านแค่เพ้ะมากๆ (เป๊ะ) ก่าแลเวลาด้วย (ฤกษ์) ซึ่งผูกกับดวงคู่บ่าวสาวหลาวโด้ ถ้าตีเก้า (9 โมงเช้า) ก่าค่อยยังชั่ว (ดีหน่อย) ถ้าตีห้าตีหกนี้ บอบกันหมด 555 ตื่นจ้าอย่างแรง (ตื่นเช้าจัด) ตาแพนด้ากันเลยแอ้ะ ไหว้เทดาต้องมีผลไม้ ขาดไม่ได้คืออ่องหลาย (สับปะรด) ก้าม (ส้ม) ลูกหลาย (สาลี่) เป่งโก้ (แอปเปิ้ล) และแก้วชา เพราะมีความหมายแฝงที่ดีคือความสุข รำ่รวยเจริญรุ่งเรือง วิธีการจัดโต้ะไหว้คือรองขาโต้ะด้วยดาษเงินดาษทอง มีอ้อยต้นที่สวยสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะหาได้ วางสองข้าง แขวนผ้าฉายสีแดงหน้าโต้ะ บ่าวสาวต้องบอกกล่าวเทดาเพื่อขอให้อวยพรครอบครัวใหม่ให้มีลูกเต็มบ้าน กิจการรุ่งเรือง

พอไหว้เทดาหน้าบ้านจบ ก่าต่อด้วยไหว้จ้อก้องในบ้าน ปกติแต่ละบ้านจะมีป้ายหรือรูปที่แท่นไหว้อยู่แล้ว ขั้นตอนนี้สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ เพราะสำหรับคนจีน กตัญญูต่อบรรพบุรุษสำคัญมากพอๆกับการทดแทนคุณพ่อแม่ เจ้าบ่าวต้องบอกว่าวันนี้สร้างครอบครัวใหม่พาเจ้าสาวเข้าบ้านขอให้จ้อก้องรับหลานภ้ายมาเป็นคนในครอบครัว ส่วนเจ้าส่วขอฝากชีวิตที่เหลือกับครอบครัวนี้ และสัญญาจะทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อให้ครอบครัวใหม่เจริญต่อไป ขนมที่ขาดไม่ได้คือหนมอังกู้ (เต่าแดง) มีความหมายว่าร่มเย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน ฮวดโก้ย (คล้ายถ้วยฟู) คือเฟื่องฟูชื่อเสียงขจรขจาย และสารพัดขนมมงคลที่ส่วนใหญ่สีแดงหรือชมพู

ผั่งเต๋ พิธียกนำ้ชา เริ่มต้นจากคนใหญ่ (ประธาน) ในงานแต่ง เป็นคนในครอบครัวหรือผู้ใหญ่ที่นับถือก็ได้ ทำหน้าที่แทนครอบครัวเจ้าบ่าวในการสู่ขอและหมั้นหมายด้วย ตามมาด้วยลำดับอาวุโส เริ่มจากพี่น้องฝ่ายกาหยิงก่อนถือว่าให้เกียรติ ตามด้วยฝ่ายกาชาย คนผั่งเต๋จะต้องอายุมากกว่าบ่าวส่าวเท่านั้นถึงจิผั่งได้ ถ้าโสดปกติไม่ผั่ง ถ้าผั่งได้แต่ต้องได้ผ้าจากบ่าวสาว ถ้าหย่าร้างหรือคู่ตายจะผั่งจอกเดียวเพราะจะไม่ผั่งคนที่ออกจากครอบครัวและคนที่ตายไปแล้วในงานมงคลแบบนี้ ผั่งเต๋นอกจากเป็นการรับขวัญครอบครัวใหม่แล้ว จี้ว่ามันคือพิธีโชว์เหนือม้ายอ่า พี่น้อง (ญาติ) แต่ละคนม้ายอ่า เจียะเต๋แล้ว พี่น้องชิด คน คน (พ่อแม่ญาติสนิทแต่ละคน) วางของไหว้กันเป็นกุบๆ (กล่องใส่เพชรทอง) ถ้าเป็นเงินนี่ก่าปึกๆ ถือว่าให้เป็นสมบัติไปเริ่มต้นชีวิต แต่งจบนี่ตั้งตัวได้จริงแอ้ะ คุกเข่าเข็ดวานเข็ดตีนไม่เกิน 2 ชม ได้ไม่รู้กี่ล้าน (บาท) โด้ คุ้มแอ่

พิธีจบก่าหยับของ (ขยับของ) เพื่อถ่ายรูปครอบครัว ก่อนบ่าวสาวออกมาทักทายแขกรับซองหรือของขวัญจากแขกคนอื่นๆแค่ไม่ได้ผั่งเต๋ การถ่ายรูปเริ่มถ่ายบ้านกาชายก่อนบ้านกาหยิงละทีนี้ เพราะแต่งจบแล้ว เจ้าสาวกลายเป็นคนของบ้านกาชายแล้วถือว่าออกจากครอบครัวตัวเองอย่างเป็นทางการ

กลางคืนจิได้กันไม่ได้กัน ตื่นเช้าวันถัดมาต้องตื่นแต่หวางไม่หวาง (เช้าตรู่) ยกขึ้น (รีบลุก) มาทำกับข้าวและยกชาให้แม่ผัวพ่อผัว เพราะตอนนี้มีพ่อแม่ใหม่แล้ว

เจ้าสาวจะมาพร้อมความคาดหวัง (เอ่อ ยังมีอีกเรอะ?) ว่าจะสามารถผลิตลูกชายเยอะๆ มาช่วยทำธุรกิจ และส่งเสริมให้ครอบครัวใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

ชุดเจ้าสาว

เสื้อครุยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการ มักจะใส่ในงานเช่น งานแต่ง งานครุยมีหลายเนื้อผ้า ที่เมืองจีน จะใช้ครุยผ้าแพรเนื้อดี แต่ส่วนมากอากาศที่จีนจะหนาว ครุยจะใช้ผ้าหนาหรือบุนวมบางๆ มีประดับขนกระต่ายให้อุ่น (แบบของปอย) พอมาถึงเอเชียใต้ เช่น มาเลย์ สิงคโปร์และภาคใต้ของไทย อากาศร้อนชื้น มีการประยุกต์มาใช้ผ้าบางลง นิยมใช้ผ้าคอตตอน ผ้าลูกไม้ ผ้าป่านมัสลิน สีอ่อนๆ ที่นำเข้าจากยุโรปหรืออินเดีย เพราะมีฝีมือในการปักเส้นทองคำมากกว่าที่อื่นๆ

เจ้าสาวในวันแต่งต้องสวยและรวยมาก ตระการตาตามแบบโบราณ เป็นชุดที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจีนกับมาเลย์ไว้ด้วยกัน เจ้าสาวจะสวมเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีขาวหรือสีอ่อนแขนยาวคอตั้งแบบจีน คู่กับปาเต๊ะสีเข้ากัน ทับด้วยเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้าป่ายมัสลินปักลวดลาย แล้วติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ หรือ “โกสัง” เป็นเข็มกลัด ๓ ชิ้นที่เสื้อด้านนอก เพิ่มความหรูหราด้วยเครื่องประดับอย่างสร้อย กำไลข้อมือข้อเท้า แหวน และรองเท้าปักดิ้นเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่ง ส่วนชุดเจ้าบ่าวเรียบหรูดูดีด้วยชุดสูทสากลติดดอกไม้ที่หน้าอก หรือเข็มกลัดประดับพู่สีชมพูเพื่อความสวยงาม

ออกแบบโดย meshmuseum ได้แรงบันดาลใจจากดอกป๊อปปี้ คนปักทุกคนตาหลุดไปแล้วนะคะ ปักทั้งวันทั้งคืน เป็นเดือนๆ ส่งมาถึงเจ้าสาวไม่กี่วันก่อนแต่งเองอ่ะ .. แต่สวยคุ้มรอจริงๆ

“เกล้ามวยชักอีโบย”
ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของเจ้าสาวบาบ๋า โดยการหวีผมด้านหน้าให้เรียบตึงแล้วเกล้าขึ้นสูง จากนั้นรวบผมเป็นมวยไว้ที่ด้านบน ส่วนผมด้านข้างตีโป่งออกมาเรียกว่า “อีโบย” หรือ “แก้มปลาช่อน” แล้วจึงสวมมงกุฎทองครอบมวยผมเอาไว้

“มงกุฎดอกไม้ไหว”
มงกุฎทองที่เจ้าสาวใช้ครอบมวยผมจะมีหงส์ประดับอยู่ด้านบน เพราะคนจีนเชื่อว่าหงส์เป็นสัตว์ปีกที่มีความยิ่งใหญ่และมักปรากฏตัวในที่ร่มเย็นพร้อมเสียงร้องอันกังวาน เหมือนเป็นการสอนให้เจ้าสาวมีวาจาที่อ่อนหวาน ดูแลครอบครัวด้วยความร่มเย็น และหากสามีเป็นอะไรไปต้องลุกขึ้นมาเป็นใหญ่แทนสามีได้ ส่วนที่ติดอยู่บนมงกุฎอีกอย่างคือ ผีเสื้อกับดอกไม้ที่แทนความยั่งยืนของชีวิตแต่งงาน ซึ่งดอกไม้ที่ประดับบนมงกุฎนั้นสามารถเคลื่อนไหวได้ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นเต้นของเจ้าสาวที่จะได้พบกับเจ้าบ่าวในวันแต่งงาน

ชุดบ่าวสาวบาบ๋านี่โรแมนติกสุดๆชุดนึงเลยถ้าเปรียบเทียบกับชุดแต่งงานชาติอื่นๆ ของเราจีนสม (ผสม) แขก แต่งทีเดียวต้องมาแบบสวยและรวยจัด ประโคมกันจากปลายผมถึงปลายตีนแล้วกันแอ้ะ (หัวถึงปลายเท้า) แต่เช้าปอยแต่งตัวเอาหลาย ชม ฮายยย เห็นดูวแรง กว่าขี้เสร็จ (จะจบ) เดินแบกทองคำแท้หลายกิโลหนักยังก่ะยกเวทแอ้ะ

ตั้งแต่แรก (โบราณ) การห่มทองห่มเพชรของเจ้าสาว นอกจากบ่งบอกถึงฐานะของทั้งสองครอบครัวแล้ว ยังมีความหมายว่าอนาคตของคู่แต่งงานจะอู่ห่าว (มั่งคั่งรำ่รวย) สองคนจะช่วยกันสร้างครอบครัวที่มีความสุข และกิจการให้เจริญงอกงาม เงินทองไหลมาเทมา ช่วงส่งตัวเข้าหอ เจ้าสาวก้าวเท้าเข้าบ้านด้วยหีบสมบัติและผ้าแพรเนื้อดีที่พ่อแม่ให้ติดตัวมา เค้าเล่ากันว่าถมๆ สมบัติให้ลูกสาวมาต้ะ ใภ้เหมี่ย ได้แลขึ้น (ดูมีราศรี) กันบ้านผัวข่มเหง

เครื่องเพชรทองส่วนมากจะทำใหม่เป็นของขวัญ 1 ชุด เจ้าสาวบางคนได้ 2 ชุดจากบ้านตัวเองและบ้านแม่ผัว เพชรทองชุดที่เจ้าสาวใส่มักจะเป็นชุดที่เป็นมรดกของครอบครัวที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จะเป็นของบ้านตัวเองหรือของบ้านเจ้าบ่าวก็ได้

บูเก้ต์งานแต่ง

แอบส่องช่อดอกไม้สาวปอย ที่เห็นหวานและจุ๋มจิ๋มขนาดนี้ ชื่อ Lily และ Lily of the Valley ดอกไม้ดั้งเดิมของประเทศอังกฤษ ที่เจ้าหญิงเคท มิเดลตันทรงถือในงานแต่งกับเจ้าชายวิลเลี่ยม ทรงให้รวบช่อแบบง่ายๆ สีขาวเขียว ซึ่งปกติช่อบูเก้ต์งานแต่งงานของราชวงศ์จะไม่ทำเล็กน่ารักแบบนี้

Lily of the Valley สีขาว บอบบาง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และดอกเป็นทรงระฆัง มีความหมายลึกซึ้ง คือหัวใจที่ใสบริสุทธิ์ ความน่าทะนุถนอม ความเชื่อใจที่แสนหวาน ทรงระฆังจะเปรียบเหมือนความสุขความสงบ คนอังกฤษมองว่าเป็นดอกไม้ที่สวยเรียบง่าย สามารถเก็บมาใช้ได้เพราะมีทั่วไปและในวังแคนซิงตันก็ปลูกที่สวนหลังวัง ความพิเศษคือจะบานในฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ความพิเศษและความหมายของดอกไม้นี้จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง พอเจ้าหญิงเคทถือออกสื่อทั่วโลกเท่านั้นแหละ ราคายิ่งไปกันใหญ่เลย

รองเท้าเจ้าสาว

รองเท้าดูเหมือนงานเล็กๆ แต่สามเดือนกว่าจะมีวันนี้ เริ่มจากผ้าตาดทองโลหะ ทำขนาดเท่ากับเท้าปอย ออกแบบ ลอกลายที่ออกแบบลงบนผ้า ปักดิ้นเงินดิ้นทอง เป็นหงส์คู่ พฤกษานานาพรรณ แปลว่าความสงบร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์ในความหมายของการปกครงครอบครัวใหม่ เพราะหงส์ในความเป็นจีนคือบ้านเมืองที่มีความสงบร่มเย็น ความอ่อนหวานและสง่างามในความหมายของความเป็นเจ้าสาวและภรรยาตามลำดับ

มีการประดับอัญมณีกะไหล่ทองเพชรซีกที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น พลอยสีเพิ่มความหวานและมิติของลวดลาย กระซิบให้ส่องเม็ดกลาง แม่เจ้า! เกือบเท่าตาดำค่า ซึ่งเป็นส่วนนึงของเครื่องประดับโบราณเก่าเก็บของสะสมส่วนตัวของอาจารย์อ้อฟ ที่พิเศษสุดๆคือไข่มุกอันดามันของภูเก็ตแท้ๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเกิดเจ้าบ่าวและเมืองนอนเจ้าสาวอีกด้วย

ได้ข่าวว่ารองเท้าหนักมาก เอิ่มมม บวกกับไหมตีน (กำไลข้อเท้า) หนักเข้าไปเหลย (อีก)