logobaanarjorwebp
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ

อาจ้อตันจิ้นหงวน เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2431 บิดาชื่อนายเซ็กอุด (พระจีนเสื้อดำ) เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งอพยพมาอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งรกรากที่ตำบลกะไหล จังหวัดพังงา มารดาชื่อนางขอมเป็นคนพังงา มีบุตรรวมทั้งสิ้น 6 คน แต่บิดาเสียชีวิตเมื่อตันจิ้นหงวนอายุเพียง 9 ขวบ อาจ้อเข้าเรียนหนังสือที่วัดกลางหรือปัจจุบันคือวัดมงคลนิมิตรกับท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (เพลา) กระทั่งอ่านออกเขียนได้ จากนั้นเมื่ออายุ 14 ปี พี่ชายได้ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ระยะหนึ่งจึงกลับมาเมืองไทย

เมื่อกลับมาจากเมืองจีนในระยะแรก อาจ้อได้ช่วยพี่ชายทำเหมืองแร่ดีบุก ต่อมาขอแยกตัวมาทำกิจการเหมืองกับเพื่อนๆ 4-5 คน โดยวิธีเหมืองหาบและประสบความสำเร็จมาก ต่อมาได้มีปัญหาจนถึงกับสิ้นเนื้อประตัว หากแต่อาจ้อก็มุ่งหน้าทำต่อไปอย่างไม่ย่อท้อและได้เปลี่ยนวิธีการทำเหมืองไปเรื่อย ๆ จากเหมืองหาบเป็นเหมืองแล่น เหมืองรู (เหมืองปล่อง) ซึ่งในการทำเหมืองรูนี้ท่านลงไปหาสายแร่ดีบุกด้วยตนเองจนกระทั่งเทียนดับซึ่งหมายถึงว่าไม่มีอากาศอยู่ในอุโมงค์แล้ว แม้ว่าเกือบเสียชีวิตแต่ด้วยความพยายามหาความรู้ในการทำเหมืองอย่างไม่ย่อท้อ ได้เดินทางไปยังมาเลเซียเพื่อดูกิจการทำเหมืองสูบ จากนั้นได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ.2470 ที่ตำบลวิชิต (ระเงง) แม้การทำเหมืองสูบครั้งนี้ไม่ได้ผลแต่อาจ้อยังคงพยายามหาทางใหม่ ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2473 โรงไฟฟ้าจึงได้ทำพิธีเปิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ทำเหมืองสูบแทนเครื่องยนต์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานและทรงลงลายพระหัตถ์ประธานชื่อเหมืองสูบที่ใช้ไฟฟ้าในการทำเหมืองว่า “เหมืองเจ้าฟ้า”

เหมืองสูบเจ้าฟ้าสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีแล้ว ประกอบทั้งท่านเดินทางไปปีนังเป็นประจำ และได้เห็นกิจการเหมืองเรือขุดแร่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2481 ท่านจึงได้ซื้อเรือขุดแร่จากประเทศมาเลเซียมาทำการเปิดเหมืองเรือขุด ณ บ้านหินลาด จังหวัดพังงา นับเป็นคนไทยคนที่ 2 รองจากพระอร่ามสาครเขตรที่มีเรือขุดของตัวเอง ในการทำเหมืองมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ และต้องซื้อจากที่อื่น เพื่อให้งานเดินไปอย่างรวดเร็วจึงได้เปิดแผนกเสริม คือ โรงหล่อกลึง โรงเลื่อยไม้ และโรงงานไม้แปรรูป โรงสีข้าว เพื่อให้คนงานเหมืองทาน โรงน้ำแข็ง และแผนกอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนกการทำเหมือง คือ โรงทำสบู่ โรงทำสุรา สวนยาง สวนมะพร้าว เรือเดินทะเล ภูเก็ต-กันตัง

อาจ้อได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์มากมาย เช่น ยกที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนบ้านสวนมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันชื่อโรงเรียนหงษ์หยกบำรุง สร้างวัดที่ตำบลกะทู้ ชื่อวัด อนุภาษกฤษฎาราม ยกที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลมิชชั่น และในส่วนที่ไม่มีอนุสรณ์นั้นด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือราชการเป็นจำนวนมาก และหลายครั้ง เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีีท่านเป็นนายกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในปี พ.ศ. 2474 ท่านจึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอนุภาษภูเก็ตการ”

ในปีพ.ศ. 2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)แก่หลวงอนุภาษภูเก็ตการ

อาจ้อชายแต่งงานกับอาจ้อหญิง นางหลุ่ยฮุ่น ในปี พ.ศ.2446 อายุ 27 ปี ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่เสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ. 2496 มีทายาทด้วยกัน 10 คน รวมบุตรชายที่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก จึงเหลือทายาท 9 คน

อาจ้อได้ส่งบุตรธิดาทุกคนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย นอกจากนั้นยังได้ส่งไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นกรณีพิเศษมาก เมื่อลูกๆ จบกลับมาก็ให้ไปฝึกงานจากลูกน้องจนกระทั่งขึ้นเป็นนายคนได้ อาจ้อสอนและทำตัวอย่างโดย เช่น ยกที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนบ้านสวนมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันชื่อโรงเรียนหงษ์หยกบำรุง สร้างวัดที่ตำบลกะทู้ ชื่อวัด อนุภาษกฤษฎาราม ยกที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลมิชชั่น และในส่วนที่ไม่มีอนุสรณ์นั้นด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือราชการเป็นจำนวนมาก และหลายครั้ง เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่อาจ้อเป็นนายกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งลูกหลานก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์จนปัจจุบัน

อาจ้อได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลานอย่างอบอุ่น ณ บ้านหงษ์หยกและเริ่มป่วยเมื่อต้นปี 2505 จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2505 รวมอายุ 74 ปี

By continuing to use our site you consent to the use of cookies as described in our privacy policy